top of page

จิตประภัสสร


จิตประภัสสรเป็นจิตบริสุทธิ์หรือเปล่า ?

หลวงตา : ประภัสสรมีความหมายคนละอย่างจากบริสุทธิ์ ประภัสสรตรงกับคำว่า "เรืองแสง" เป็นคุณสมบัติประจำตัวของสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ตามธรรมดาแสงนั้นไม่เศร้าหมอง จะเศร้าหมองต่อเมื่อมีอะไรมาปนลงไปในแสงโดยเฉพาะก็คือกิเลส

ดังนั้นจิตสูญเสียความประภัสสรเมื่อถูกกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา ถ้าจะเรียกประภัสสรว่าบริสุทธิ์ ก็บริสุทธิ์อย่างภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่บริสุทธิ์อย่างความหมายของพระอริยเจ้า ทั้งนี้แล้วแต่ว่าเราจำกัดขอบเขตของคำที่พูดกันนั้นเพียงไหน

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะแห่งประภัสสรนั้น ต้องว่างจากกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่นั้นเหมือนกัน ดังนั้นก็พอที่จะเรียกหรือสงเคราะห์จิตประภัสสรนี้ไว้ในพวกจิตว่างด้วยเหมือนกัน ส่วนที่มักจะบริสุทธิ์หรือไม่นั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว

ตาแก่ : ถ้าเช่นนั้น จิตว่างก็มีหลายชนิด ? หลวงตา : จะว่าชนิดเดียวก็ได้ หลายชนิดก็ได้ แล้วแต่เราจะเพ่งเล็งกันกว้างหรือแคบเพียงไร ที่ว่าชนิดเดียวนั้นหมายถึงว่าในขณะนั้นมันปราศจากอุปาทานว่าตัวตน หรือของตนก็แล้วกัน คือมันจะยังไม่ทันเกิดหรือไม่อาจจะเกิดก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่ามีหลายชนิดนั้นก็คือว่างได้หลายอย่าง คือว่างเด็ดขาดอย่างจิตพระอรหันต์ก็มี ว่างไม่เด็ดขาดอย่างจิตผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ก็มี ว่างเองตามธรรมชาติเพราะยังไม่มีอารมณ์มากวนก็มี อารมณ์มากระทบแล้วควบคุมได้ก็มี กำลังอยู่ในสมาธิบางชนิดก็มี หรือมีอารมณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็มี กำลังพักผ่อนนอนหลับตามปกติก็ยังมี หรือแม้ที่สุดแต่มีบทเพลงหรือดนตรีบางชนิด มาขับกล่อมแวดล้อมอยู่ก็มี

เหล่านี้เรียกว่ามันมีหลายชนิดแต่อย่างไรก็ตามเมื่อสรุปเอาแต่ใจความที่มุ่งหมายในที่นี้แล้ว มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า เรากำลังว่างจากอุปาทานที่กำลังสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูของกู อยู่ก็แล้วกัน และถือว่านั่นแหละคือปรกติภาวะแท้ของจิต และไม่มีความทุกข์

ตาแก่ : แล้วจิตว่างชนิดไหนเล่าที่ประสงค์ในประโยคที่กล่าวว่า "เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง" ?

หลวงตา : หมายถึงจิตว่างทุกชนิด เพราะเหตุผลอย่างเดียวคือ ไม่ว่าจะเป็นจิตว่างชนิดไหน ล้วนแต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น เราเอาแต่ไม่มีทุกข์ก็แล้วกัน อย่าไปเห่อความเป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้นชั้นนี้ เหมือนที่เขาแห่ไปทำวิปัสสนาเพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่แข่งกันเลย ซึ่งมีแต่จะทำจิตให้ไม่ว่างกันยิ่งขึ้น ดังที่เห็นอวดดเบ่งทับกันทะเลาะวิวาทกันยิ่งขึ้น

ดังนั้นจะเป็นจิตว่างชนิดไหนก็ไม่น่ารังเกียจ ที่ว่างเองตามธรรมชาตินั้นยิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะทำให้คนมีจิตไม่ผิดปกติ ไม่เป็นโรคเส้นประสาทหรือโรคจิต เป็นต้น ส่วนที่ควบคุมให้ว่างนั้น ก็เป็นเพียงการยึดความว่างตามธรรมชาติให้ยาวออกไปหรือให้ประณีตยิ่งขึ้นเท่านั้น

ส่วนการว่างเด็ดขาดโดยเป็นพระอรหันต์แล้วนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นการเป็นอยู่ด้วยจิตว่างอยู่ในตัวโดยไม่ต้องพยายามอะไรอีกต่อไปแล้ว

พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ


Featured Posts
กรุณากลับมาใหม่ภายหลัง
หลังจากที่โพสต์เผยแพร่แล้ว คุณจะเห็นข้อมูลที่นี่
Recent Posts
Archive
Search By Tags
ยังไม่มีแท็ก
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page